Last updated: 23 เม.ย 2560 | 29327 จำนวนผู้เข้าชม |
การดำเนินชีวิตของแมลงวัน
1. การผสมพันธุ์ (Mating)
ในสภาพที่อุณหภูมิเหมาะสม แมลงวันตัวผู้จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 วัน (หรือมากกว่า 18 ชั่วโมง) แมลงวันตัวเมียจะสามารถผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุมากกว่า 1 วัน (ประมาณ 30 ชั่วโมง) สิ่งที่กระตุ้นให้แมลงวันผสมพันธุ์ ได้แก่ การมองเห็น นอกจากนั้นการกระตุ้นจากฟีโรโมน (Pheromone) ก็มีส่วนสำคัญในระยะหลังได้มีการพบฟีโรโมนมูสคาเลอ (Muscalure) ซึ่งผลิตจากแมลงวันตัวเมีย มีส่วนดึงดูดแมลงวันตัวผู้ให้มาผสมพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีผู้พบฮอร์โมนจากตัวผู้ ช่วยทำให้แมลงวันตัวผู้และตัวเมียมารวมกัน แต่พบว่าไม่ได้มีผลกับการผสมพันธุ์มากนัก ตามปกติตัวเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว จากนั้นเชื้อตัวผู้จะถูกเก็บไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อ (Spermatheca) ของตัวเมีย เชื้อตัวผู้จะสามารถผสมไข่ได้นาน 3 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น
2. การวางไข่ (Oviposition)
แมลงวันตัวเมียจะสามารถวางไข่ได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นสำคัญ การวางไข่จะใช้เวลาน้อยที่สุด 1.8 วันในที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส และใช้เวลา 9 วันในที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปแมลงวันจะไม่วางไข่เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ตัวเมียชอบวางไข่ในแหล่งที่มีอาหารสมบูรณ์ มีกลิ่นของเสีย และสิ่งปฏิกูลต่างๆเป็นสิ่งดึงดูดให้แมลงวันมาวางไข่ โดยเฉพาะกลิ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นอื่นๆจากสิ่งปฏิกูล แมลงวันจะวางไข่ไว้ใต้พื้นผิวที่มีร่มเงาหรือส่วนที่ไม่สัมผัสกับแสงแดด ทั้งนี้เพื่อป้องกันความร้อน ความแห้ง ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตเป็นตัวหนอน
ปกติแมลงวันจะออกไข่ครั้งละประมาณ 120 ฟอง (หากไม่มีสิ่งรบกวน) แมลงวันตัวหนึ่งจะวางไข่เป็นกลุ่มในที่เดียว และจะพบเสมอว่าแมลงวันจำนวนมากจะเลือกวางไข่ในแหล่งเดียวกัน การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแมลงวันตัวเมียสามารถวางไข่เฉลี่ย 10 ครั้ง หรือมากกว่านี้ แต่ในธรรมชาติแม้จะมีสภาพที่เหมาะสม แมลงวันจะวางไข่ได้เพียง 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากแมลงวันในธรรมชาติจะมีอายุสั้นกว่าในห้องปฏิบัติการมาก
3. อายุขัยแมลงวัน (Longevity)
ได้มีผู้ศึกษาในต่างประเทศพบว่าร้อยละ 50 ของแมลงวันที่เกิดจะตายในระยะ 3 – 6 วันแรก และมีจำนวนน้อยมากที่จะมีอายุยืนยาวถึง 8 – 10 วัน ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าแมลงวันมีอายุสั้น แต่จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแมลงวันตัวผู้มีอายุไขเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ตัวเมียอายุประมาณ 29 วัน (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 45 ) ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์ในการควบคุมแมลงวันจึงควรถืออายุขัยของแมลงวันเป็นประมาณ 3 – 4 อาทิตย์ การที่แมลงวันมีอายุขัยเฉลี่ยสั้น และส่วนใหญ่จะตายไปก่อนที่จะมีการวางไข่ขยายพันธุ์ก็มีส่วนสำคัญในการดำเนินการควบคุม โดยคาดว่าจะมีจำนวนแมลงวันไม่มากนักที่จะสามารถวางไข่ได้เกินกว่า 2 – 3 ครั้ง การที่แมลงวันมีอายุขัยสั้นอาจเป็นผลจากเชื้อราบางชนิด เช่น Entomophthora muscae เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบว่าลักษณะโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ความชื้น อุณหภูมิ และฤดูกาลก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แมลงวันมีอายุขัยสั้น
4. ที่อยู่อาศัย และแหล่งเพาะพันธุ์
แมลงวันมักจะเลือกวางไข่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของหนอนแมลงวัน คือ มีอาหารสำหรับตัวหนอน และมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ เช่น กองขยะมูลสัตว์ เศษอาหาร ซากสัตว์ เศษผักผลไม้เน่าเสียที่มีสารอินทรีย์ ตะกอนน้ำโสโครก ส้วมหลุม เป็นต้น มักพบแมลงวันมากบริเวณฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กองขยะในตลาดสด กองขยะของชุมชน ดังนั้นในระยะที่เป็นไข่และตัวหนอนนั้นจะพบได้ในสถานที่ชื้นแฉะและมีอาหาร ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนระยะตัวโม่งมักจะอาศัยอยู่ตามพื้นดินที่แห้ง และระยะตัวแก่มักชอบอยู่อาศัยในที่อบอุ่น ร่ม และใกล้แหล่งอาหาร เช่น บ้านคน คอกสัตว์ พุ่มไม้ สายไฟฟ้าหรือวัตถุที่ห้อยแขวนลักษณะเป็นเส้นๆ เป็นต้น แมลงวันตัวแก่สามารถบินได้ไกล 9 – 10 กิโลเมตร ในเวลา 24 ชั่วโมง ฉะนั้นในการควบคุมกำจัดแมลงวันจึงต้องดำเนินการให้เหมาะสมตามแต่สถานที่ เช่น ถ้ากำจัดหนอนต้องไปกำจัดบริเวณกองขยะ ถ้ากำจัดตัวแก่ต้องกำจัดบริเวณที่เกาะพักของมัน เป็นต้น แมลงวันหัวเขียวจะตอมอาหารพวกปลา ผลไม้ ทุเรียน มะม่วงเพื่อแพร่พันธุ์ แมลงวันลายเสือจะแพร่พันธุ์เป็นระยะตัวหนอนตามเนื้อสัตว์ เช่นแหล่งที่ทำเนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น ส่วนแมลงวันดูดเลือดแพร่พันธุ์ตามคอกสัตว์
5. แหล่งอาหาร
แมลงวันชอบตอมอาหาร หรือ กินอาหารได้แทบทุกชนิดที่เป็นทั้งของสด และสิ่งบูดเน่า โดยเฉพาะสิ่งบูดเน่าต่างๆ เช่น ผลไม้เน่า ซากสัตว์เน่า เศษอาหาร ขนมหวาน น้ำตาล เนื่องจากแหล่งอาหารเหล่านี้มีการย่อยสลาย และมีสารน้ำต่างๆไหลออกมา ทำให้ง่ายต่อการดูดกิน เช่น น้ำหวาน น้ำเหลือง น้ำเลือด เป็นต้น
การกินอาหารของแมลงวัน หากเป็นอาหารเหลว แมลงวันจะใช้ปากดูดกลืนอาหารเข้าปากโดยตรง ส่วนอาหารของแข็ง แมลงวันจะปล่อยน้ำลายใช้ย่อยอาหาร แล้วดูดกินกลับเข้าไป
6. เวลาออกหากิน
แมลงวันออกหากินเวลากลางวัน ฉะนั้นจะพบแมลงวันตามแหล่งอาหารในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจะพักผ่อน เช่น เกาะพักตามพุ่มไม้ รั้วคอกสัตว์ ผนังอาคารบ้านเรือน ตามสายไฟ ตามซอกฝา ซอกเพดาน เป็นต้น จากการที่ทราบว่า เวลากลางวันแมลงวันอยู่ที่ใด และเวลากลางคืนมันเกาะพักที่ใดนั้นมีประโยชน์ในการวางแผนการควบคุมแมลงวัน โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันชนิดที่ผลตกค้างพ่นตามที่เกาะพักของแมลงวัน
7. แสงสว่าง
แมลงวันมีนิสัยชอบแสงสว่าง จากการที่แมลงวันจะชอบบินเข้าหาที่ที่มีแสงสว่างเสมอ มนุษย์จึงคิดประดิษฐ์ทำกับดักแมลงวัน โดยรอบกับดักจะบุด้วยสีดำยกเว้นด้านบนให้แสงสว่างลอดผ่านได้ เมื่อแมลงวันบินเข้ามาตอมเหยื่อล่อทางด้านล่างแล้วมักจะบินขึ้นเข้าหาแสงสว่าง ทำให้มันติดอยู่ในส่วนที่เป็นกับดัก นอกจากจะชอบแสงธรรมชาติแล้ว พบว่าแมลงวันโดยเฉพาะแมลงวันหัวเขียวชอบแสงอัลตราไวโอเลต (UV Light) ฉะนั้น จึงเป็นประโยชน์ในการกำจัดแมลงวันโดยใช้ตะเกียงแสงอัลตราไวโอเลตล่อให้แมลงวันมาเล่นไฟ และถูกกระแสไฟช๊อตตายหรือติดอยู่ในกับดักไฟฟ้าได้
8. การบิน การแพร่ และระยะการบิน
ตามปกติแมลงวันจะหากินพร้อมทั้งวางไข่อยู่ใกล้ๆกับแหล่งกำเนิดของมันและตามบ้านคน มันจะบินไปมาระหว่างบ้านคนซึ่งเป็นระยะทางใกล้ๆ แต่อาจถูกกระแสลมพัดพาไปจากแหล่งเดิมได้เป็นระยะทางหลายๆไมล์ นอกจากนี้เมื่อขาดแคลนอาหาร แมลงวันอาจบินไปหาอาหารแหล่งอื่นซึ่งไกลออกไป ปัจจัยที่มีผลต่อการบินของแมลงวันมีดังนี้ เช่น กลิ่นอาหาร แสงสว่าง อุณหภูมิและแหล่งอาหาร เป็นต้น โดยเฉลี่ยพบว่าแมลงวันบินหาอาหารได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร
เพราะฉะนั้น การควบคุมแมลงวัน โดยการใช้สารเคมี ชีววิธี กับดัก หรือแผ่นกาวดักแมลงวัน เพื่อควบคุมเฉพาะบ้านใดบ้านหนึ่งจึงไม่ได้ผลสมบูรณ์ ต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งชุมชน
ขอบคุณ รูปภาพประกอบจาก Google
บทความอ้างอิงจาก
http://pasusat.com/แมลงวัน
22 เม.ย 2560
23 เม.ย 2560
22 เม.ย 2560
22 เม.ย 2560