Last updated: 23 เม.ย 2560 | 7833 จำนวนผู้เข้าชม |
ผลกระทบจากแมลงวัน
แมลงวันนอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญ กรณีที่มีแมลงวันชุกชุมมากจะชอบบินมาจับ มาเกาะตามตัว ตามใบหน้าของคนเราทำให้เกิดความรำคาญเป็นอย่างมาก และที่สำคัญยังเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคต่างๆ
แมลงวันเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่น ไทฟอยด์ (Typhoid) อุจจาระร่วงอย่างแรง(Cholera) อุจจาระร่วง ตาแดง ริดสีดวงตา(Trachoma) โรคบิดมีตัว โรคบิดไม่มีตัว โปลิโอ แอนเทร็กซ์(Anthrax) วัณโรค พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนตัวกลม เป็นต้น แมลงวันจะสำรอกน้ำลาย และน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารออกมาช่วยย่อยหรือละลายอาหาร ทำให้แมลงวันเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคจากเสมหะ อุจจาระ เศษขยะมูลฝอย ลงในอาหารคน จากการที่แมลงวันตอมกินเสมหะเป็นอาหาร และกินอาหารทุกชนิดทำให้แมลงวันเป็นพาหะแพร่โรควัณโรคด้วย นอกจากนี้ แมลงวันยังมีนิสัยที่ช่วยให้แมลงวันเป็นตัวนำและแพร่เชื้อโรคได้อีกคือ ชอบถ่ายมูลลงบนอาหารของคน และเมื่อแมลงวันกินอาหารอิ่มแล้ว มันจะถูหรือเสียดสีขาคู่หน้าของมัน ทำให้เชื้อโรคและไข่พยาธิที่ติดมากับขนขาร่วงหล่นลงบนอาหารของคน เมื่อคนกินอาหารนั้นก็จะได้รับเชื้อโรคติดต่อเข้าไปด้วย
แมลงวันเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้ทุกชนิด หาอาหารตามกองขยะมูลฝอย เศษอาหาร ซากสัตว์ อุจจาระ มูลสัตว์ ทำให้เชื้อโรค ไข่ของหนอนพยาธิติดมากับแมลงวันได้ โดยติดมากับขนตามลำตัว ติดมากับขนที่ขา ปนอยู่กับของเหลวในกระเพาะอาหาร และอยู่ในระบบทางเดินอาหารของแมลงวัน เมื่อแมลงวันมาตอมอาหารของมนุษย์ ก็จะนำเชื้อโรคและไข่ของหนอนพยาธิลงในอาหาร เมื่อคนบริโภคอาหารนั้นเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้
วิธีแพร่เชื้อของแมลงวัน
1. วิธีเชิงกล (Mechanical Transmission)
เชื้อโรคส่วนใหญ่จะถูกนำโดยวิธีนี้เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเอาขาหน้าถูกันเมื่อเวลาที่แมลงวันกินอาหารอิ่มแล้ว ทำให้เชื้อโรคตามลำตัวและขา ร่วงลงในอาหาร เมื่อคนบริโภคอาหารนั้นเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร บิด พยาธิ เป็นต้น
2. วิธีสำรอกใส่อาหาร (Propagating Transmission)
เนื่องจากแมลงวันมีวิธีการกินอาหารโดยการสำรอกน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารมาละลายของแข็งก่อน แล้วจึงดูดกลับเข้าไปใหม่ ทำให้เชื้อโรคถูกถ่ายออกจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร (Crop) ลงสู่อาหารในที่สุด ในทำนองเดียวกันนิสัยชอบถ่ายมูลรดบนอาหารก็ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนลงสู่อาหารได้เช่นกัน เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น
3. วิธีเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (Intermediate Host)
ตัวอ่อนของหนอนพยาธิจะอาศัยอยู่ในตัวของแมลง เมื่อเจริญเป็นระยะติดต่อแล้ว หนอนพยาธิก็หาทางออกจากแมลงวันเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ เป็นต้น
4. วิธีการวางไข่หรือแพร่พันธุ์ เป็นระยะตัวหนอนไว้ตามแผล หนอง ฝี ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคไมยาชีส (Myaisis)
ขอบคุณ รูปภาพประกอบจาก Google
บทความอ้างอิงจาก
http://pasusat.com/แมลงวัน
22 เม.ย 2560
22 เม.ย 2560
23 เม.ย 2560
23 เม.ย 2560